“ประเพณีทิ้งกระจาด” งานบุญสว่างนครลำปาง ประจำปี 2567

รู้จัก “ประเพณีทิ้งกระจาด” งานบุญ จากความเชื่อของวันสารทจีนที่สืบสานเรื่องราวมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก่อนผสมผสานมาอยู่ในวัฒนธรรมไทย “วันสารทจีน” เป็นเทศกาลที่ลูกหลานชาวจีนเชื่อกันว่า เป็นวันที่วิญญาณของผู้ล่วงลับจะมาสามารถกลับมาเยือนโลกมนุษย์ เพื่อมาเยี่ยมเยียนครอบครัวของตัวเองได้ ดังนั้นในวันนี้ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกัน

แต่ไม่เพียงเฉพาะบรรพบุรุษผู้ล่วงลับเท่านั้น วิญญาณส่วนหนึ่งที่ไม่มีญาติและหิวโซก็สามารถขึ้นมารับส่วนบุญยังโลกมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้ในวันเดียวกันจึงมีการทำพิธีเซ่นไหว้ผีไร้ญาติด้วย แต่การไหว้บรรพบุรุษนั้นจะอยู่ในบ้านช่วงสาย ส่วนการเซ่นไหว้ผีไร้ญาติจะทำนอกบ้านหลังบ่ายโมง

การให้ทานกับผีไร้ญาติ นอกจากการไหว้ผีไม่มีญาติบริเวณนอกบ้านของตัวเองแล้ว ยังมีการให้ทานในที่สาธารณะด้วย ตามศาลเจ้า โรงเจ หรือวัด ซึ่งนั่นคือการ “ทิ้งกระจาด” ที่จะมีพระจีนหรือร่างทรงเป็นผู้ประกอบพิธี นอกจากพิธีกรรมนี้จะเป็นการให้ทานกับเหล่าผีไม่มีญาติแล้ว ยังสามารถให้ทานกับผู้ยากไร้ได้อีกด้วย ถือว่าเป็นมหาทานที่ชาวจีนเชื่อกันว่าจะได้บุญมาก ด้วยเหตุนี้ลูกหลานชาวจีนจึงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณีสำคัญในช่วงวันสารทจีน

พิธีกรรมให้ทานผีไร้ญาติของจีนสู่ไทย

“การทิ้งกระจาด” แม้จะเป็นพิธีจีน แต่เมื่อเข้าสู่ประเทศไทยก็มีการเรียกอย่างไทย โดยนำมาจากการสร้างกระจาดทานถวายกัณฑ์เทศน์ ตามคตินิยมบำเพ็ญมหาทานบารมีอย่างพระเวสสันดร ซึ่งเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วในสังคมไทย

แต่เดิมตามธรรมเนียมของชาวจีน สิ่งของที่จะแจกเป็นทานจะบรรจุลงในกระจาดไม้ไผ่ สานมัดด้วยตอก เรียกว่า “โกวไท” แปลว่า “กระจาดทาน” ซึ่งเป็นที่มาให้สังคมไทยเรียกพิธีนี้ว่า “พิธีทิ้งกระจาด”

กำเนิด “การทิ้งกระจาด” มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ในสมัยพระพุทธกาล ระหว่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมเทศนา ณ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์ ซึ่งในขณะนั้น “พระอานนท์” ได้ทำการปลีกวิเวกไปเข้าฌานสมาบัติอยู่ที่ใต้ต้นโคนต้นไม้ใหญ่ ขณะนั้น ได้มีอสุรกายตนหนึ่งนามว่า “อัคนีชวาลมุขเปรต” มาปรากฏตัวอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเปรตตนนี้มีรูปร่างสูงใหญ่ มีใบหน้าเขียว แสยะแยกเขี้ยว โดยที่ตามตัวมีแต่หนังหุ้มกระดูกลำคอเท่ารูเข็ม มีเปลวไฟโชติช่วงออกมาจากปากอยู่ตลอดเวลา 

“อัคนีวาลมุขเปรต” ได้กล่าวกับ “พระอานนท์” ว่า พระอานนท์จะถึงกาลมรณะในอีก 3 วันข้างหน้า จากนั้นท่านต้องไปเกิดในเปรตภูมิได้รับความทุกข์ทรมานด้วยความ หิวโหยอย่างแสนสาหัส หากพระเถระเจ้าปรารถนาจะมีอายุยืนยาว ขอให้ท่านได้ทำพิธีมหาทานอุทิศข้าวของเครื่องใช้และเครื่องบริโภคเป็นไทยทาน แก่ฝูงเปรตด้วย พระอานนท์นั้นยังไม่ได้บรรลุในอรหันต์จึงเกิดความตกใจกลัว จึงไปเข้าเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์เพื่อขอให้พระพุทธองค์แถลงไขในเรื่องนี้

พระพุทธองค์เมื่อได้ฟังเรื่องราวของ “อัคนีวาลมุขเปรต” จึงได้ตรัสแก่ “พระอานนท์” ว่า ในอดีตเมื่อพระองค์ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ในสำนักพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์นั้น พระโพธิสัตว์ได้ตรัสเทศนาถึง “พิธีโยคเปรตพลี” เพื่อโปรดเหล่าเปรตและสัตว์ทั้งหลาย

ดังนั้น “อัคนีชวาลมุขเปรต” ที่จริงแล้วคือ พระอวโลกิตเตศวรโพธิสัตว์ หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิม ผู้มีปณิธานที่จะโปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้นิรมิตกายมาเพื่อเป็นอุบาย ให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับพิธีโยคเปรตพลีอุทิศแก่ “พระอานนท์” เพื่อโปรดสัตว์ไตรภูมิเป็นปฐมกาล

หลังจากนั้นพิธีนี้ได้เป็นแนวทางปฏิบัติของ นิกายมนตรยาน เพื่อแสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์ต่อเหล่าสัตว์โลกทั้งหลาย

เมื่อมีการแปลพระสูตรเป็นภาษาจีน พิธีนี้จึงมีการถ่ายทอดสืบเนื่องต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นที่นิยมของประชาชนมีการประกอบพิธีทั่วไปทั้งในงานศพ ในงานวันเกิด ในเทศกาลสารทจีนเดือน 7 และในเทศกาลอื่นๆ รวมทั้งในเทศกาลกินเจก็จะต้องมีพิธีกรรมนี้ ซึ่งแม้แต่ในศาสนาเต๋าก็รับแนวคิดนี้จากพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีนิยมในประเทศที่รับพระพุทธศาสนาจากจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ก็ได้รับความนิยมด้วย

อาจกล่าวได้ว่า “ประเพณีทิ้งกระจาดของจีน” จะคล้ายกับประเพณีก๋วยสลากของภาคเหนือ ทานข้าวสากของภาคอีสาน การทำบุญสลากภัตของภาคกลาง และพิธีรับส่งตายายหรือสารทเดือนสิบของภาคใต้

ในประเทศไทย การทิ้งกระจาด” ที่จัดเป็นประเพณีใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังมีอยู่หลายที่ เช่นที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรุงเทพฯ และโดยเฉพาะที่สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับจังหวัด

ปัจจุบันพิธีทิ้งกระจาดในไทยจะเป็นการจัดหาสิ่งของต่างๆ มาให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ส่วนใหญ่จะเป็นของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องใช้ต่างๆ ผู้ที่บริจาคสิ่งของเหล่านี้จะถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน